
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทรงเปิดงานเปิดตัว “หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย” และทรงบรรยายเรื่อง “การส่งเสริมและพัฒนาผ้าไทย”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทรงเปิดงาน “หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย” เล่มที่ 3 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023) ที่ไอคอนสยาม ซึ่งทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารด้วยพระองค์เอง และทรงบรรยายเรื่อง “การส่งเสริมและพัฒนาผ้าไทย และภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” ความตอนหนึ่งว่า เล่มที่สามเป็นอะไรที่สนุกสนานสีสันสดใส…
หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานผ้าไทย และเทรนด์แฟชั่นระดับโลก เพื่อแสดงแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบ ช่างทอผ้า ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา
พร้อมจัดเสวนาวิชาการ การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2565 ที่ทรงมีพระดำริให้จัดทำขึ้น และทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร ด้วยพระองค์เอง ต่อเนื่องมาถึงเล่มล่าสุด นับเป็นเล่มที่ 3 จัดโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางพาสินี ลิ่มอติบูลย์ ผู้บริหารบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ตลอดจนข้าราชการ ผู้ประกอบการด้านผ้าไทย นิสิตนักศึกษา เฝ้ารับเสด็จ ณ ICON Art and Cultural Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม
โอกาสนี้ ทรงทอดพระเนตร นิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ด้วยความสนพระทัย แล้วพระราชทานหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยฯ ให้แก่คณะผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นทรงบรรยายในหัวข้อ การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ความตอนหนึ่งว่า เล่มที่สามเป็นอะไรที่สนุกสนานสีสันสดใส… อาทิ วัฒนธรรมเคลื่อนคล้อยเป็นเรื่องวัฒนธรรมจากพื้นที่ต่าง ๆ มารวมในที่เดียวกัน จากไฮไลท์ของเล่มนี้คือ ผ้าบาติก มาจากมลายู และผ้าขาวม้า มาจากเปอร์เซีย
ผ้าบาติก หรือปาเต๊ะ ในภาคใต้ของประเทศไทย หรือบางท่านเรียกว่าโสร่ง มีรากศัพท์มาจากภาษาอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในไฮไลท์ซีซั่นนี้ เกิดขึ้นจากในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ชวา อินโดฯ พระองค์ทรงเป็นนักสะสม ได้เห็นการทำผ้าบาติก พระองค์จึงทรงสั่งทำ และทรงตีทะเบียนเองว่าผ้าชิ้นนี้มาจากที่ไหน
ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ (พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง) ต้นฉบับผ้าไม่มีในอินโดนีเซียแล้ว เพราะโรงงานไม่มีแล้ว แต่โชคดีที่ยังอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ การเดินทางของผ้าผืนบาติกในไทยมีอยู่ทุกภาค แต่ที่คนรู้จักมากที่สุดในภาคใต้
ผ้าขาวม้า หรือกะมัรบันด์ รากศัพท์มาจากเปอร์เซีย (Kamarband) คือผ้าผูกเอวในบ้านเรา เหมือนเป็นผ้าที่ใช้ได้ทุกโอกาส ห่มเลี้ยงลูก ทำเปล คลุมเข้าห้องน้ำ พันผม เป็นผ้าที่เอนกประสงค์ ใช้ตั้งแต่กำเนิดจนวายชนม์
“ท่านหญิงอยากเห็นน้อง ๆ รุ่นใหม่ชาเลนจ์ตัวเองเอาผ้าขาวม้ามาทำเครื่องประดับ หรือของใช้ในบ้านว่าจะทำได้ขนาดไหน”
“อยากแนะนำผ้าบาติก ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก ผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติ โดยมีวัสดุแห่งฤดูกาล อย่างผ้าฝ้ายเขียนมือเส้นเล็ก ไหมน้อย ใบกัญชง เส้นใยรีไซเคิล อย่างในส่วนเส้นใยรีไซเคิลเป็นเทรนด์กำลังมาแฟชั่นระดับโลก คนเริ่มใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เคยไปสัมผัสผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลมาที่อิตาลี ผิวสัมผัสนุ่ม สาก กระด้างหน่อย ๆ ด้วยวิธีการทอแน่นกำลังดี ส่วนในไทยเป็นเรื่องใหม่ ต้องใช้เวลาพัฒนา แต่คิดว่าทำได้ อยากให้ลอง”
“เทรนด์บุ๊คเล่มที่ 1 และ 2 ยังใช้ได้ เล่ม 3 ก็ใช้ได้ ทุกอันย่อยมาให้หมดแล้ว ท่านหญิงอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้เมดอินไทยแลนด์ ใช้ได้กับนักเรียนนักศึกษา เป็นตำราเรียนที่ใช้ได้เท่าเทียมกัน ตำราไทยที่เทียบเท่าราคาฝรั่งที่ราคาสูงเหลือเกิน ทุกคนสามารถไปอ้างอิงได้ในการทำมาอาชีพของทุกท่าน ขอให้ใช้ให้ถูก เมื่อใช้ให้ถูกจะไปได้ดี ขอให้ทำความเข้าใจ”
“ท่านหญิงเชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นองค์ความรู้ที่ผู้ประกอบการรอคอย จะทำมาอาชีพได้เป็นกอบเป็นกำ พวกเราที่เป็นนักวิชาการ จะย่อยให้ทุกคนได้ต่อยอดต่อไป ครูอาจารย์ต้องสอนและให้โอกาสเด็กได้อ่านและทำ หนังสือเล่มนี้ต้องลงมือทำ เชื่อเหลือเกินว่าอาชีพนี้จะทำให้ประเทศไทยเจริญด้วยมือของเรา ขอฝากหนังสือเล่มนี้และใช้ให้มีประโยชน์ที่สุด”